กล้วย

ชื่อพื้นเมือง      :         กล้วยมะลิอ่อง (จันทบุรี) กล้วยใต้ (เชียงใหม่, เชียงราย) กล้วยอ่อง (ชัยภูมิ) กล้วยตานีอ่อง (อุบลราชธานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :         Musa sapientum L.

ชื่อวงศ์           :         MUSACEAE

ชื่อสามัญ        :         Banana

ประโยชน์        :         กล้วยเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ใบกล้วยในภาษาไทยอาจเรียกว่า “ตองกล้วย” (ตอง หมายถึง ใบไม้ที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะใบกล้วย)ใช้ห่ออาหารและทำงานฝีมือหลายชนิด ขณะที่ใบกล้วยที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไปเรียกว่า “ใบเพสลาด” ลำต้นใช้ทำเชือกกล้วย กระทง กล้วยสามารถนำมาพอกหน้าซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว ลดความหยาบกร้านบนผิว ด้วยการใช้กล้วยสุกหนึ่งผลนำมาบดให้ละเอียด แล้วเติมน้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นคลุกให้เข้ากันแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          กล้วยเป็นไม้ดอกล้มลุกขนาดใหญ่ ทุกส่วนเหนือพื้นดินของกล้วยเจริญจากส่วนที่เรียกว่า “หัว” หรือ “เหง้า” ปกติแล้ว ต้นกล้วยจะสูงและแข็งแรงพอสมควร ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นต้นไม้ ซึ่งแท้จริงแล้วส่วนที่คล้ายกับลำต้นคือ “ลำต้นเทียม” (pseudostem) ใบของกล้วยประกอบด้วย “ก้านใบ” (petiole) และแผ่นใบ (lamina) ฐานก้านใบแผ่ออกเป็นกาบ กาบที่รวมตัวกันอย่างหนาแน่นทำให้เกิดลำต้นเทียม มีหน้าที่ชูก้านใบ พยุงให้พืชตั้งตรงดูคล้ายต้นไม้ เมื่อแรกเจริญขอบของกาบจะจรดกันคล้ายท่อ เมื่อมีใบเจริญขึ้นใหม่ที่ใจกลางลำต้นเทียม ขอบกาบที่จรดกันนั้นก็จะแยกออกจากกัน พันธุ์กล้วยนั้นมีความผันแปรมากขึ้นอยู่กับพันธุ์ปลูกและสภาพแวดล้อม โดยมาก สูงประมาณ 5 เมตร (16 ฟุต) จาก ‘กล้วยหอมแคระ (Dwarf Cavendish)’ ซึ่งสูงประมาณ 3 เมตร (10 ฟุต) ไปจนถึง ‘กล้วยหอมทอง (Gros Michel)’ ที่สูงประมาณ 7 เมตร (23 ฟุต) หรือมากกว่า ใบแรกเจริญจะขดเป็นเกลียวก่อนที่จะแผ่ออก อาจยาวได้ถึง 2.7 เมตร (8.9 ฟุต) และกว้าง 60 ซม. (2.0 ฟุต) แผ่นใบมีขนาดใหญ่ ปลายใบมน รูปใบขอบขนาน โคนใบมน มีสีเขียว ใบฉีกขาดได้ง่ายจากลม ทำให้บางครั้งมองดูคล้ายใบเฟิร์น รากเป็นระบบรากฝอย แผ่ไปทางด้านกว้างมากกว่าทางแนวดิ่งลึก

เมื่อกล้วยเจริญเติบโตเต็มที่ หัวจะสร้างใบสุดท้ายที่เรียกว่า “ใบธง” จากนั้นจะหยุดสร้างใบใหม่ และเริ่มสร้างช่อดอก (inflorescence) ลำต้นที่มีช่อดอกอ่อนบรรจุอยู่ จะพัฒนาขึ้นภายในลำต้นเทียม จนในที่สุดมันก็โผล่ออกที่ด้านบนลำต้นเทียม แต่ละลำต้นเทียมจะสร้างช่อดอกเพียงช่อเดียว ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ปลี (banana heart)” (บางครั้งมีกรณีพิเศษ เช่นกล้วยในประเทศฟิลิปปินส์สร้างปลีขึ้นมาห้าหัว) ช่อดอกประกอบด้วยกลุ่มของช่อดอกย่อยเป็นกลุ่มๆ มีใบประดับสีม่วงแดงหรือที่เรียกว่า “กาบปลี” (บางครั้งมีการเข้าใจผิดเรียกเป็นกลีบดอก) ระหว่างแถวของช่อดอกย่อย ช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีดอกเรียงซ้อนกันอยู่ 2 แถว ดอกตัวเมีย (ที่สามารถเจริญเป็นผลได้) จะอยู่ในช่อดอกย่อยที่บริเวณโคนปลี (ใกล้กับใบ) ดอกตัวผู้จะอยู่ที่ปลายปลี หรือส่วนที่เรียกว่า “หัวปลี” รังไข่อยู่ต่ำกว่าซึ่งหมายความว่ากลีบดอกขนาดเล็กและส่วนอื่นๆ ของดอกจะอยู่ในปลายรังไข่ หลังให้ผล ลำต้นเทียมจะตายลง แต่หน่อหรือตะเกียงจะพัฒนาขึ้นจากตา (bud) ที่หัว ส่งผลให้กล้วยเป็นพืชหลายปี หากเกิดขึ้นหลายหน่อพร้อมกันจะเรียกว่า “การแตกกอ” ในระบบการเพาะปลูก จะอนุญาตให้เจิญเติบโตเพียงหน่อเดียวเท่านั้นเพื่อให้ง่ายต่อการจัดสรรพื้นที่

ลำต้น

ใบ

ดอก

ดอก

ผล

เมล็ด