ชื่อพื้นเมือง : แก้ว (ภาคกลาง), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murraya paniculata (L.) Jack.
ชื่อวงศ์ : RUTACEAE
ชื่อสามัญ : Orange Jasmine, China Box Tree, Andaman Satinwood, Chinese Box-wood
ประโยชน์ : เนื้อไม้ ด้ามเครื่องมือต่างๆ ก้านและใบ ใช้เป็นยาชาระงับปวด แก้ผื่นคันที่เกิดจากชื้น แก้แผลช้ำ ราก ใช้แก้ปวดเอว แก้ผื่นคัน ใบ ขับพยาธิตัวตืด แก้บิด แก้ท้องเสีย ราก, ใบ เป็นยาขับประจำเดือน ดอก, ใบ ช่วยย่อย แก้ไขข้ออักเสบ แก้ไอ เวียนศีรษะ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ สีเขียวเข้ม เปลือกต้น สีขาวเทา แตกเป็นร่องตามยาว เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ มีใบย่อย 5-9 ใบ เรียงสลับกันจากเล็กไปหาใหญ่ สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบย่อยที่ปลายก้านใบรูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนแหลมหรือสอบ ขอบเป็นคลื่นหรือหยักมนตื้นๆ โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย ใบมีต่อมน้ำมัน มีช่อดอกสั้น ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก ปลายมน กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาวประมาณ1.2 ซม. เรียงซ้อนเหลื่อม ฐานรองดอกรูปวงแหวน เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไม่เท่ากัน ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบดอก ก้านเกสรเพศผู้แบน รังไข่ติดเหนือวงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียหนา ยาวประมาณ 0.7 ซม. ยอดเกสรรูปโล่ห์ ร่วงง่าย ดอกบานเต็มที่กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ฝักหรือผล รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 5-8 มม. ยาวประมาณ 1 ซม. ผลแก่สีแดงอมส้ม ต่อมน้ำมันเห็นได้ชัด เมล็ดจะเป็นรูปไข่ มีขนหนาและเหนียวหุ้มโดยรอบเมล็ด ออกดอกตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝน มักปลูกเป็นต้นเดียวหรือปลูกเป็นกลุ่ม เป็นรั้วบังสายตา ให้ร่มเงา ลูกจากกิ่งตอนจะเป็นไม้พุ่ม ถ้าปลูกที่ร่มใบจะเขียวเข้มกิ่งยืดยาวและให้ดอกน้อย ผลมีสีสันแต่ไม่ติดผล สามารถนำไปเป็นไม้ประดับหรือสมุนไพร จะพบทุกภูมิภาค
ลำต้น
ใบ
ดอก
ดอก
ผล
ผล