มะลิ

ชื่อพื้นเมือง      :         มะลิ, มะลิลา (ทั่วไป), มะลิซ้อน (ภาคกลาง), มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน), มะลิป้อม (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :         Jasminum sambac (L.) Aiton 

ชื่อวงศ์                  OLEACEAE

ชื่อสามัญ        :         Arabian jasmine

ประโยชน์        :         รากสด ใช้ทำเป็นยาล้างตาแก้เยื่อตาอักเสบ ช่วยแก้อาการปวดฟัน ใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ใบ มีรสเผ็ดชุ่ม เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อขับความชื้น แก้ไข้หวัดแดด ดอก มีรสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ จิตใจชุมชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย ชูกำลัง ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นความสูงประมาณ 1-2 เมตร ผิวเปลือกลำต้นสีขาวมีสะเก็ดรอยแตกเล็กน้อย ลำต้นเล็กกลมแตกกิ่งก้านสาขาไปรอบๆ ลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ๆ ตามก้านและกิ่ง ใบมนป้อม หรือใบรูปไข่ปลายแหลม โคนใบสอบเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อออกตามส่วนยอดหรือตามง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวมีกลีบดอกประมาณ 6-8 กลีบ เรียงกันเป็นวงกลมหรือซ้อนกันเป็นชั้นแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ขนาดดอกบานเต็มที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผล ผลเป็นรูปกลมรีเล็กเมื่อสุกจะมีสีดำภายในมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด นอกจากนี้ลักษณะของลำต้น และดอกแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยการปักชำ การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง การแยกกอ มะลิมีถิ่นกำเนิดในเอเชียและลังกา ขึ้นกลางแจ้งชอบแดดจัด ปลูกง่ายขึ้นในดินเกือบทุกสภาพเจริญได้ดีในดินร่วนซุย

ลำต้น

ลำต้น

ใบ

ใบ

ดอก

ดอก