ชื่อพื้นเมือง : ชันนา ยางตัง ทองหลัก ยาง ยางแม่น้ำ ยางขาว ยางควาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dipterocarpus alatus Roxb.
ชื่อวงศ์ : DIPTEROCARPACEAE
ชื่อสามัญ : Yang
ประโยชน์ : เปลือก เป็นยาบำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้ตับอักเสบ และใช้ทาถูนวดขณะร้อน ๆ เป็นยาแก้ปวดตามข้อ เมล็ดและใบ มีรสฝาดร้อน นำมาต้มใส่เกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน น้ำมันยางดิบ มีรสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ เป็นยาสมานแผล ห้ามหนอง ใช้เป็นยาทาแผลเน่าเปื่อยแผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน และเป็นยากล่อมเสมหะ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยางนาเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ใบแก่จะร่วงลงมา ขณะเดียวกันจะแตกใบใหม่มาทดแทนทันที เนื่องจากมักขึ้นอยู่ในที่ลุ่ม ความชื้นสูง จึงสามารถผลิตใบใหม่แทนได้ เมื่อโตเต็มที่ไม้ยางนาจะมีความสูง ประมาณ 30 – 40 เมตร ความสูงถึงกิ่งแรก ประมาณ 20 – 25 เมตร หรืออาจมากกว่าถ้าอายุมากๆ ลำต้น เปล่าตรง เปลือกเรียบหนา สีเทาอมขาว โคนต้นมักเป็นพูพอน โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีความชื้นสูงมาก ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนา เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง ใบ เป็นรูปไข่ ปลายแหลมคล้ายใบหอก ขนาดกว้าง 8 – 15 ซม. ยาว 20 – 30 ซม. เนื้อใบหนา ปลายใบสอบเรียว โคนใบเรียบ เส้นแขนงใบมี 14 – 17 คู่ ก้านใบยาว 4 ซม. กาบหุ้มยอดหรือใบอ่อน มีขนอ่อนสีน้ำตาล ผิวใบมีขนอ่อนและเส้นใบเห็นชัด ดอก เมื่อถึงระยะออกดอกผลได้แล้ว การแตกใบอ่อนของยางนาจะเกิดเพียงครั้งเดียว พร้อมทั้งมีตาดอกเกิดขึ้นที่ข้างกิ่งที่แตกออกมาใหม่ เมื่อใบอ่อนเริ่มคลี่ออก ช่อดอกก็จะเริ่มขยายตัวไปพร้อม ๆ กัน และจะมีการเจริญของดอกจากโคนไปยังปลายของช่อดอก ดอกมีสีชมพู ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง กลีบรองดอกตอนโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย และมีกลีบตามยาว 5 กลีบ โคนกลีบประสานติดกัน ปลายกลีบบิดเวียนตามกันแบบกังหัน เกสรตัวผู้มี 29 อัน รังไข่มี 3 ช่อง ไข่อ่อนช่องละ 2 อัน ผล หลังจากผสมเกสรแล้วจะพัฒนาเป็นผล ช่อหนึ่ง ๆ จะมี 1 – 2 ผล หรือบางครั้งอาจมากกว่า และใช้เวลาประมาณ 100 วัน ผลจะแก่พอที่จะเก็บมาขยายพันธุ์ได้ ผลยางนาจะมีปีก 2 ปีก ยื่นออกมาจากปลายผลห่อหุ้มส่วนล่างของผลหรือบริเวณที่จะงอกเป็นรากไว้ ภายในมีเมล็ดเดียวเป็นลักษณะคล้าย ๆ แป้งสีขาวมีริ้วสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป ภายในสุดจะเป็นใบเลี้ยงที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้ ผลหรือเมล็ดที่สมบูรณ์จะต้องมีเปลือกหุ้มที่พองนูนสม่ำเสมอ และถ้าผ่าดูภายในเมล็ดต้องสดนิ่มจับดูรู้สึกเหนียวนุ่ม เพราะมียาง ถ้าเป็นผลที่แห้งและเมล็ดล่อนไปติดเปลือกหุ้มเมล็ดก็จะเป็นเมล็ดเสียใช้ขยายพันธุ์ไม่ได้ ไม้ยางนาจะให้ผลจำนวนมาก ผลจะแก่จัดในต้นเดือนพฤษภาคม แล้วจะร่วงลงสู่พื้นดิน ผลยางนาที่ร่วงหล่นถึงพื้นดินจะเป็นเมล็ดดีเพียงประมาณ 30%
ลำต้น
ใบ